อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ และกิ่งอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันก่อกำเนิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5 แห่ง และยังเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ที่สำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีแก่งหินที่ทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ ตลอดจนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 558.750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเรียงรายกันอยู่ตามเทือกเขาถนนธงชัยลดหลั่นลงมาจนถึงพื้นราบ ประมาณ 40-50 ลูก ยอดที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาโมโกจู” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,964 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ ส่วนพื้นที่ราบมีไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ และเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ เช่น แร่ไมก้า สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในช่วงฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะอากาศค่อนข้างหนาวเย็น อันเนื่องมาจากลิ่มความกดอากาศสูงมาจากประเทศจีนแผ่ลงมาทางตอนใต้เข้าสู่ประเทศไทยตอนบนและปกคลุมทั่วประเทศ ลมที่พัดสู่ประเทศไทยในฤดูนี้คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนช่วงฤดูร้อนเริ่มต้นจากเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม อากาศค่อนข้างร้อนจัดและมีฝนตกน้อย ทำให้สังคมพืชป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณผลัดใบ สำหรับฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,100 มิลลิเมตรต่อปี อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอคลองลาน กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร และ กิ่งอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก เป็นพื้นที่ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิง มีสัตว์ป่า นานาชนิด ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น ถ้ำ หน้าผา น้ำตก โป่งแก๊สธรรมชาติ เป็นต้น มีเนื้อที่ประมาณ 466,875 ไร่ หรือ 747 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ณ บริเวณดินแดนคาบสมุทรทางภาคใต้ของประเทศไทย ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดตัวเป็นแนวยาว ในบริเวณนี้ส่วนที่เป็น “เทือกเขานครศรีธรรมราช” มี “อุทยานแห่งชาติเขาหลวง” เป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุด ประกอบด้วย “ยอดเขาหลวง” เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภาคใต้ มีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้ เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารหลายสายที่ไหลหล่อเลี้ยงผืนแผ่นดินภาคใต้ตอนกลาง มีสถานที่รื่นรมย์สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น น้ำตก ภูเขา ยอดเขา ทิวทัศน์ และที่สำคัญมีคุณค่าอันแท้จริงที่จะอำนวยประโยชน์ต่อมนุษยชาติ คือ มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงยิ่ง อุทยานแห่งชาติเขาหลวง ได้รับรางวัล “ยอดเยี่ยม (กินรีทอง)” ประเภท “แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ” จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประจำปี พ.ศ. 2541 อุทยานแห่งชาติเขาหลวงมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอลานสกา อำเภอฉวาง อำเภอเมือง อำเภอพิปูน อำเภอพรหมคีรี กิ่งอำเภอช้างกลาง และกิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ประมาณ 356,250 ไร่ หรือ 570 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำปาด ท้องที่ตำบลม่วงเจ็ดต้น ตำบลนาขุม ตำบลบ้านโคก อำเภอบ้านโคก อำเภอห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ ที่มีสภาพป่าสมบูรณ์ปกคลุมไปด้วยป่าธรรมชาติที่สวยงาม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีจุดเด่นที่น่าสนใจและเป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยว ได้แก่ น้ำตกภูสอยดาว เป็นน้ำตก 5 ชั้น มีเนื้อที่กว้างประมาณ 1,000 ไร่ มีความสวยงามมาก มีถนนลาดยาง เข้าถึงพื้นที่ทำให้สะดวกสบายในการเดินทางพักผ่อนหย่อนใจ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีเนื้อที่ประมาณ 212,633 ไร่ หรือ 340.21 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศใต้ เป็นเทือกเขากั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 – 1,800 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นที่ราบประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำภาค และ ลำน้ำปาด อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว มีอากาศเย็นสบายตลอดปี อุณหภูมิสูงเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 13 องศาเซลเซียส อุณหภูมิโดยเฉลี่ยทั่วไป 27 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,334.4 มิลลิเมตร/ปี ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว เดินทางโดยรถยนต์ จากจังหวัดพิษณุโลก ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 แล้วแยกเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1246 ถึงบ้านแพะแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1143 ผ่านอำเภอชาติตระการ แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1237 ผ่านบ้านบ่อภาคไปบรรจบกับเส้นทางแผ่นดินหมายเลข 1268 ถึงน้ำตกภูสอยดาว อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว รวมระยะทางประมาณ 188 กิโลเมตร จากจังหวัดอุตรดิตถ์ใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1047 (อุตรดิตถ์-น้ำปาด) จนถึงอำเภอน้ำปาดแล้วเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1239 ไปอีก 47 กิโลเมตร จึงเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1268 ไปอีก 18 [...] อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว
ทุ่งดอกบัวตอง ทุ่งดอกบัวตอง ดอยแม่อูคอ ดอกบัวตองที่นี่เมื่อบานพร้อมๆ กันในช่วง เดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม จะเหลืองอร่ามปกคลุมทั่วทั้งภูเขา มีความสวยงามมาก นอกจากนี้ บริเวณดอยแม่อูคอยังมีบริการให้เช่าเต็นท์ค้างแรมบนดอยซึ่งตั้งเต้นท์ได้ประมาณ 100 หลัง ผู้สนใจสามารถติดต่อได้โดยตรง บริเวณหน่วยทำการบนทุ่งบัวตอง หรือ ติดต่อกับทางอำเภอขุนยวม โทร. 053-691-108 อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ โทร. 053-061-073 และบริเวณด้านหลังจุดชมวิว มีร้านอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย การเดินทางไปดอยแม่อูคอ เดินทางโดยรถยนต์ เส้นทางเข้าสู่ทุ่งบัวตองมี 2 เส้นทาง คือ 1. ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 201 แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 1263 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าทางสายบ้านนางิ้ว – บ้านหัวฮะ ไปอีก 14 กิโลเมตร 2. จากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ตามทางหลวงหมายเลข 1263 (แม่-แจ่ม-ขุนยวม) ถึงทางแยกเข้าบ้านนางิ้ว-บ้านหัวฮะ ระยะทาง 76 กิโลเมตร แล้วแยกเข้าไปอีก 14 กิโลเมตร ทุ่งดอกบัวตอง
ทุ่งแสลงหลวง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอวังทอง อำเภอนครไทย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ มีสภาพธรรมชาติ ทิวทัศน์ และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแหล่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก ทุ่งหญ้าโล่งใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด มีเนื้อที่ประมาณ 789,000.00 ไร่ หรือ 1,262.40 ตารางกิโลเมตร สำหรับชื่อของอุทยานแห่งชาติเป็นชื่อของทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นโดยอาศัยชื่อพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งในทุ่งหญ้าแห่งนี้ คือ ต้นแสลงใจ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลสุกสีแสด เมล็ดให้สารสตริคนิน ซึ่งเป็นสารเบื่อเมา คาดว่าในสมัยก่อนมีต้นแสลงใจขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพภูมิประเทศเป็นเนินสูงๆ ต่ำๆ มีป่าหลายชนิด และสัตว์ป่าชุกชุม จึงตั้งชื่อว่า “ทุ่งแสลงหลวง” ให้สมกับเป็นพื้นที่ที่รวบรวมความหลากหลายของธรรมชาติไว้ ทุ่งแสลงหลวง พื้นที่อุทยานแห่งชาติตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเทือกเขาที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ และเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ ความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 500 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดสูงสุดคือ บริเวณเขาแค สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,028 เมตร เนื่องจากภูเขาบริเวณนี้เป็นภูเขาหินทราย ลักษณะของภูเขาจะเป็นภูเขายอดตัดหรือมีที่ราบบริเวณยอดเขา แต่บริเวณร่องเขาจะลึก และมีความลาดชันสูง เนื่องจากหินทรายเป็นหินที่ง่ายต่อการถูกกัดเซาะ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของลำน้ำที่สำคัญหลายสาย เช่น ห้วยเข็กใหญ่ ห้วยเข็กน้อย ลำน้ำทุ่ม คลองชมภู คลองน้ำปอย คลองวังทอง และห้วยกอก เป็นต้น ทุ่งแสลงหลวง ลักษณะภูมิอากาศ ในระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน เป็นช่วงที่อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 29 องศาเซลเซียส ฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง 1,300-1,700 มิลลิเมตรต่อปี โดยมีปริมาณมากที่สุดในเดือนกันยายน และในฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ โดยทั่วไปอากาศจะหนาวเย็นมากเหมาะแก่การไปท่องเที่ยว ทุ่งแสลงหลวง
อุทยานแห่งชาติตาดหมอก อุทยานแห่งชาติตาดหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากบริเวณที่ดินป่าตะเบาะ และ ป่าห้วยใหญ่ อยู่ในท้องที่ ตำบลบ้านโคก ตำบลห้วยใหญ่ และ ตำบลนาป่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ ป่า ภูเขา และน้ำตกที่สวยงามยิ่ง สมควรกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมมิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน และเพื่ออำนวยประโยชน์อื่นแก่รัฐและประชาชน มีเนื้อที่ประมาณ 181,250 ไร่ หรือ 290 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติตาดหมอก เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดของห้วยน้ำดำ ห้วยผึ้ง ห้วยกกไฮ ฯลฯ ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารของลุ่มน้ำป่าสัก และลุ่มน้ำชี เป็นผืนป่าเดียวกันกับป่าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ-ห้วยใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาดหมอก อาณาเขตทิศเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง จังหวัดเพชรบูรณ์ ทิศใต้จดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตะเบาะ – ห้วยใหญ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ ทิศตะวันออกจดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดเพชรบูรณ์ ทิศตะวันตกจด อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ อุทยานแห่งชาติตาดหมอก โดยทั่วไปอากาศจะหนาวเย็นในตอนดึกและตอนเช้า ส่วนใหญ่ตอนกลางวันอากาศเย็นสบาย ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม ส่วนใหญ่ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในเดือนธันวาคมและมกราคม อุทยานแห่งชาติตาดหมอก
อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่ในท้องที่ อำเภอหล่มสัก อำเภอหล่มเก่า อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูง มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นต้นน้ำลำธาร มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ หรือ 966 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อากาศจะหนาวเย็นในตอนดึกและตอนเช้า ส่วนใหญ่ตอนกลางวันอากาศเย็นสบาย จึงกล่าวได้ว่า อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 25 องศาเซลเซียส ในฤดูฝนจะมีฝนตกชุกระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม ส่วนใหญ่ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก จนบางครั้งน้ำค้างจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในเดือนธันวาคมและมกราคม ซึ่งในบางปีอุณหภูมิจะลดต่ำถึง 0 องศาเซลเซียส อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว
ภูทับเบิก ภูทับเบิก เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดเพชรบูรณ์ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,768 เมตร อยู่ที่ตำบลวังบาล ห่างจากอำเภอหล่มเก่า 40 กิโลเมตร มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งได้อพยพมาอาศัยอยู่ที่บ้านทับเบิก โดยอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบอาชีพทำการเกษตรแบบขั้นบันไดตามเชิงเขา ภูทับเบิก
อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ประกอบด้วยยอดภูเขาที่สำคัญคือ ภูหมันขาว ภูขี้เถ้า ภูแผงม้า ภูหินร่องกล้า ภูลมโล โดยมีภูหมันขาวเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด สูงประมาณ 1,820 เมตร จากระดับน้ำทะเล เทือกเขาเหล่านี้จะมีความสูงลดหลั่นลงไปจากด้านทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก และ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยน้ำขมึน ห้วยลำน้ำไซ ห้วยออมสิงห์ ห้วยหลวงใหญ่ และ ห้วยเหมือดโดน อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ลักษณะภูมิอากาศ ภูหินร่องกล้ามีสภาพภูมิอากาศคล้ายภูกระดึง และ ภูหลวงเนื่องจากมีความสูงไล่เลี่ยกันอากาศจะหนาวเย็นเกือบตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวอุณหภูมิจะต่ำมากประมาณ 0-4 องศาเซลเซียส มีหมอกคลุมทั่วบริเวณ ส่วนฤดูร้อนอากาศจะเย็นสบายฝนตกชุกในฤดูฝน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี ประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า